‘วงการบันเทิงจีน’ สั่นสะเทือน เมื่อ ‘จีน’ จัดระเบียบสังคม
“วงการบันเทิงจีน” สั่นสะเทือนอย่างแท้จริง เนื่องจาก “รัฐบาลจีน” เอาจริง จนทำให้ศิลปิน นักแสดงหลายคนที่เป็นผู้ทรงอิทธิพลของจีนโดนจัดระเบียบอย่างหนัก ไม่ใช่แค่เรื่อง “ภาษี หรือ ความรับผิดชอบทางสังคม” ของตัวดาราศิลปินเองเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง “แฟนคลับ” ของดาราคนดังอีกด้วย
“เจิ้ง ส่วง” นางเอกสาวชาวจีนที่โด่งดังจากซีรี่ส์ “รักใสใสหัวใจสี่ดวง” เวอร์ชั่นจีนแผ่นดินใหญ่ กลับมาเป็นข่าวดังทั้งในจีนและทั่วโลกอีกครั้ง ในประเด็น “หลีกเลี่ยงภาษี” จนโดนค่าปรับมากกว่า 299 ล้านหยวน (ราว 1,500 ล้านบาท) หลังจากเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา
เจิ้ง ส่วง มีข่าวด้านลบจนทำให้ชื่อเสียงและผลงานหดหาย จากการที่ “จาง เหิง” โปรดิวเซอร์หนุ่มซึ่งเป็นแฟนเก่า ได้ออกมาแฉว่า เธอบังคับให้เขาทิ้งทารก 2 คน ที่เกิดจากการอุ้มบุญในอเมริกา เพียงเพราะทั้งคู่เลิกรากัน ซึ่งจางเหิงไม่ได้ทำแบบที่นางเอกจีนคนนี้ต้องการ เมื่อข่าวฉาวนี้ออกมา ทำให้ชาวจีนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
กระแสนี้เป็นไปในทางลบ จนส่งผลให้ Prada แบรนด์แฟชั่นชื่อดังตัดสินใจยกเลิกสัญญาร่วมงานกับเจิ้งส่วง ทั้งที่เพิ่งแต่งตั้งให้เป็น “แบรนด์แอมบาสเดอร์” ได้เพียงแค่ 9 วัน เท่านั้น
สำนักบริหารกิจการภาษีแห่งชาติจีน (State Tax Administration : STA) เปิดเผยว่า จางเหิงแฟนเก่าของเจิ้งส่วง เป็นคนให้ความร่วมมือกับทางการจีนในการแจ้งเบาะแสเรื่องการเลี่ยงภาษีของเจิ้งส่วง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมาจากทาง STA ว่า จางเหิงจะโดนปรับอะไรด้วยหรือไม่ เพราะเขาเองก็มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดด้วย
ประเด็นของเจิ้งส่วง ทำให้หวนคิดถึงกรณีคล้ายกันเมื่อปี 2561 ในกรณีของ “ฟ่าน ปิงปิง” อีกหนึ่งนางเอกสาวจีนที่ดังระดับโลก ถือเป็นเบอร์หนึ่งในจีนในขณะนั้นก็ว่าได้ แต่วันหนึ่งเรื่องราวของฟ่านปิงปิงถูกตีแผ่ออกมาว่า พัวพันกับสัญญาจ้างงานแบบหยินหยาง คือ สัญญาที่ทำปลอมขึ้นมา โดยใส่รายรับที่น้อยกว่าความเป็นจริง เพื่อการหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับที่เจิ้งส่วงกำลังเผชิญในตอนนี้
ที่น่าสนใจคือไม่ใช่แค่เรื่องเลี่ยงภาษี แต่เป็นเรื่องของ “การจัดระเบียบทางสังคม และปลูกฝังความเป็นคนดีตามมาตรฐานของจีน โดยเฉพาะ การทำเพื่อชาติ” แน่นอนว่า การหนีภาษี ไม่จ่ายเงินในส่วนที่รัฐจีนและประเทศชาติควรได้ ถือเป็นเรื่องร้ายแรงเป็นการทำร้ายประเทศชาติเข้าขั้นคอรัปชั่น ที่ในรอบสิบปีนี้ “รัฐบาลจีน” ชูการปราบคอรัปชั่นขึ้นมาเป็นนโยบายและผลงานหลัก ควบคู่ไปกับการโหมปลูกฝังชาตินิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมจีน
ในปีเดียวกันกับที่กระแสเชิงลบของฟ่านปิงปิงลุกโชนดั่งเปลวเพลิงพร้อมกับการอันตรธานหายไปเฉยๆ แบบไร้ร่องรอยหลายเดือนของนางเอกระดับตัวแม่ ฟ่านปิงปิง ทางสถาบันวิจัยทางสังคมแห่งชาติจีนและมหาวิทยาลัย Beijing Normal university (ม.ครุศาสตร์ปักกิ่ง) ที่ทำวิจัยร่วมกัน ได้เผยคะแนน 'ความรับผิดชอบต่อสังคม' ของดารา ศิลปิน นักร้องและเหล่าคนดังชาวจีน รวมฮ่องกงและไต้หวัน ประจำปี พ.ศ. 2560 – 2561 ภายใต้เกณฑ์การให้คะแนนจาก 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ผลงานที่ออกมา การกระทำเพื่อการกุศล และความซื่อสัตย์ของตัวบุคคลนั้น
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ทางรัฐบาลจีนได้ปลูกฝังความเป็น ชาตินิยม แก่ประชาชนในชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านนโยบายและสื่อต่างๆ ซึ่งการ “หนีภาษี” ถือเป็นการขาดความรับผิดชอบต่อสังคมจีนและแผ่นดินถิ่นเกิด จึงไม่น่าแปลกใจที่ ฟ่านปิงปิง ได้รับ 0 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน จากการจัดอันดับในปีนั้น มีข้อที่น่าสังเกตอยู่ข้อหนึ่งในการจัดอันดับ มีเพียงคนดังของจีนเพียง 9 คน ที่ผ่านเกณฑ์ 60 คะแนนขึ้นไปของผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคม เฉินหลง ดาราชื่อก้องโลก ที่เคยมีข่าวลบในภาพจำของคนจีนจากกรณีลูกชายของเขาพัวพันกับยาเสพติด ก็อยู่ในการจัดอันดับ และได้เพียงอันดับที่ 42 ด้วยคะแนน 38.10 สำหรับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 29.9 คะแนน
เรื่องราวของฟ่านปิงปิงเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา จบลงด้วยการออกสู่หน้าสื่ออีกครั้ง โดยยอมรับการถูกปรับและจ่ายภาษีย้อนหลัง เป็นเงินประมาณ 4,200 ล้านบาท พร้อมกับโพสต์จดหมายขอโทษต่อสาธารณะชนผ่าน Weibo โซเชียลมีเดียของจีน
เมื่อปี 2562 หลังจากเกิดเหตุการณ์ ฟ่านปิงปิง 1 ปี Global Times สื่อกระบอกเสียงทางการจีน เผยแพร่บทความ “ดาราระดับสตาร์ของจีน ขึ้นแท่นดารารายรับอู้ฟู่ ติดอันดับระดับโลก” โดยระบุ TOP 3 ได้แก่ ฟ่านปิงปิง ฟันรายได้ 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วย ลู่หาน อดีตสมาชิกวงบอยแบนด์เกาหลี EXO 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ หยางมี่ นางเอกจีนระดับซุปเปอร์สตาร์อีกคน 29.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งเรื่องของเจิ้งส่วง และฟ่านปิงปิง ทำให้อาจตั้งสมมติฐานได้ว่า การออกมาตรการควบคุม วงการบันเทิงจีน คนดัง เกี่ยวกับการเลี่ยงภาษี-การฉ้อโกงของรัฐบาลจีน เป็นส่วนหนึ่งในการจัดระเบียบทางสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่แค่การปราบคอรัปชั่น การฉ้อโกง การเลี่ยงภาษีเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงหากดาราหรือคนดังชาวจีนคนไหนที่มีอิทธิพลในวงกว้างต่อสังคมจีน ไปเกี่ยวข้องหรือมีพฤติกรรมที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของจีนก็จะได้รับการจัดระเบียบไปด้วย
หาก รัฐบาลจีน มองว่า เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เขาพร้อมจัดระเบียบ ผมขอใช้คำว่า “ล่าจนสุด” คือ ถ้าจีนจะจัดการไม่ว่าผ่านมานานแค่ไหน หรือซุกซ่อนอะไรไว้ จีนสามารถค้นขึ้นมาได้หมด มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ อย่างเช่น “ปฏิบัติการล่าสุนัขจิ้งจอก” การปราบคอรัปชั่น ไล่ล่าข้าราชการ-เจ้าหน้าที่-บุคคลที่ฉ้อโกง ที่เกี่ยวพันกับคอรัปชั่นแล้วหนีไปยังต่างประเทศให้กลับมารับโทษ ซึ่งเคยมีเคสเจ้าหน้าที่ภาครัฐของจีนหนีไปนอกจีน 10 กว่าปี สุดท้ายก็โดนจับกลับมา จากตัวอย่างนี้เป็นหลักฐานชั้นดีว่า “ทำไมจีนจัดระเบียบได้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้แต่การหนี-เลี่ยงภาษี ที่บางประเทศยังทำไม่ได้”
สมมติฐานที่ผมตั้งขึ้น ไม่ได้มโนขึ้นแบบล่องลอย ทว่ายังมีอีกหลายเคสของ ดาราจีน ที่โดนผลกระทบจากการจัดระเบียบดังกล่าว เอาแค่ในช่วงเวลาใกล้ๆ กับกรณีของ เจิ้ง ส่วง ก็มีให้เห็นหลายคน อาทิเช่น กรณีของ “จ้าว เวย” หรือโลกตะวันตกเรียก Vicky Zhao นางเอกจีนที่โด่งดั่งจากซีรี่ส์ย้อนยุค “องค์หญิงกำมะลอ” และก้าวขึ้นมาเป็นนักธุรกิจหญิงระดับมหาเศรษฐีจีน จากการลงทุนในหุ้นและอีกหลายธุรกิจ ที่ข้อมูลของเธอในโลกออนไลน์ รวมทั้งผลงานในวงการบันเทิงที่ผ่านมาแทบทั้งหมด หายไปจากสารบบจีนเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
ถึงแม้ยังไม่มีรายละเอียดชี้แจงออกมาอย่างชัดเจนถึงสาเหตุในการลบข้อมูลของ จ้าว เวย ออกไป แต่สื่อจีนเองคาดการณ์ว่า ต้นเรื่องทั้งหมดที่ทำให้จีนจับตามองจ้าวเวยมาโดยตลอด และนำไปสู่การลบล้างข้อมูลทั้งหมดของจ้าวเวยออกไปจากโลกออนไลน์ เมื่อจีนดำเนินมาตรการ ชิงหล่าง
ชิงหล่าง (ภาษาจีนกลาง: 清朗มีความหมายว่า Cool and Bright เย็นและสดใส มักใช้กับการบรรยายสภาพอากาศ ซึ่งการตั้งชื่อนี้ คงต้องการสื่อถึงการจสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ในโลกออนไลน์จีนให้สดใส ไร้สิ่งแปดเปื้อน) เป็นมาตรการจัดระเบียบโลกออนไลน์ถูกนำมาใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 สาเหตุมาจาก จ้าวเวยและสามี เกี่ยวข้องกับคดีอื้อฉาวหลายคดีที่เกี่ยวกับการลงทุน การครอบครองกิจการโดยผิดจรรยาบรรณ จนโดนตลาดหลักทรัพย์จีนแบน ไม่ให้ดำเนินการใดๆ ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะละเมิดกฎของตลาด โดยทั้งสองคนได้ถือหุ้นใน Alibaba Pictures บริษัทลูกของ Alibaba Group ของ แจ็คหม่า ที่โดนตรวจสอบอย่างหนัก พร้อมกับข่าวการหายหน้าหายตาไปของแจ็คหม่าเช่นกัน
นอกจากนี้ น่าจะมาจาก ปี 2543 จ้าว เวย เคยสวมชุดที่มีธงทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่ทราบกันดีว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่ชาวจีนเป็นอย่างมาก ยิ่งกรณีสังหารหมู่นานกิง (เมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู ในปัจจุบัน) แม้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้ว ราว 21 ปีก่อน แต่เมื่อมีหลายๆ เรื่องในเชิงลบทับถมมากๆ เข้า เลยปะทุขึ้นมา นี่ยังไม่นับในกรณีที่ จ้าว เวย เคยถูกตั้งข้อสงสัยว่า “สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน” เพราะจ้าวเวยไปแสดงหนังคู่กับ “ลีออน ได” นักแสดงชื่อดังชาวไต้หวันที่แสดงออกชัดเจนในการสนับสนุนให้ไต้หวันแยกตัวจากจีน ซึ่งประเด็นนี้ถูกเอ่ยถึงเหมือนกัน ถึงเหตุปัจจัยที่เป็นไปได้
ตลาดอุตสาหกรรมบันเทิงและสื่อจีน ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงมาก ตามข้อมูลจาก PWC หรือ PricewaterhouseCoopers หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ที่สุดในโลก คาดการณ์มูลค่าของตลาดนี้ แตะ 3.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2564 นี้ และอีก 4 ปีข้างหน้ามูลค่าอาจพุ่งไปถึง 4.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้ที่ได้รับอานิสงค์เต็มๆ จากการเติบโตของตลาด วงการบันเทิงจีน อย่างต่อเนื่อง หนีไม่พ้น ศิลปิน-ดารา-นักแสดง ยิ่งดังเท่าไหร่ ค่าตัวยิ่งมาก
แม้จีนจะออกกฎคุมรายรับของนักแสดง ตั้งแต่ปี 2561 โดยกำหนดให้การจ่ายค่าจ้างแก่นักแสดงทั้งหมดต้องมีสัดส่วนไม่เกิน 40% ของต้นทุนการผลิตของหนังหรือซีรี่ส์ และค่าจ้างนักแสดงนำ ต้องไม่เกิน 70% ของค่าจ้างทั้งหมดด้วย ในทางปฏิบัติจริงกลับมีการทำสัญญา หยินหยาง หลีกเลี่ยงภาษี รายรับของดาราจีนระดับชั้นนำที่มาจากการแสดง ไม่นับงานโฆษณาหรือการร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ ยังคงถือว่าสูงมาก
ใน Weibo โซเชียลจีน มีการเผยแพร่ภาพอินโฟกราฟิกและข้อมูลอันดับศิลปินดาราจีนที่มีรายรับมากที่สุดตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (2560 – 2563) โดยอ้างว่าเป็นการจัดอันดับโดยนิตยสาร Fortune China โดย TOP 5 ได้แก่
ส่วน เจิ้ง ส่วง อยู่ในอันดับที่ 28 โดยถูกใส่ตัวเลขในข้อมูลอินโฟกราฟิกนั้นราว 1,000 ล้านหยวน
แต่ล่าสุดในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ กลับไม่พบข้อมูลบนเว็บไซต์หรือสื่อรูปแบบอื่นๆ ของนิตยสารดังกล่าว อาจเป็นไปได้ว่า ถูกลบออกจากโลกออนไลน์จีน ผลจากมาตรการ “ชิงหล่าง” จัดระเบียบข้อมูลโลกออนไลน์จีน เหมือนกับกรณีถอดการจัดอันดับดาราบนแพลตฟอร์ม Weibo หรือ อาจจะไม่ใช่ข้อมูลจริงตั้งแต่ต้นก็เป็นได้
การจัดระเบียบทางสังคมในโลกออนไลน์จีน วงการบันเทิงจีน เซเลป เป็นหนึ่งในวงการที่ถูกเพ่งเล็งมากสุด และเริ่มโดนจัดระเบียบอย่างหนักแล้วในขณะนี้ ไม่ได้ถูกจัดระเบียบแค่เรื่องภาษีหรือความรับผิดชอบทางสังคมของตัวดาราศิลปินเอง แต่ยังรวมถึง “แฟนคลับ” ของดาราคนดังเหล่านี้ด้วย เนื่องจากทางจีนมองว่า บ่อยครั้งที่แฟนคลับหรือภาษาวัยรุ่นเรียกว่า “ด้อม” ของดาราหลายราย ก่อให้เกิดปัญหาและกระแสเชิงลบในโลกออนไลน์จีน
ยกตัวอย่างกรณี แฟนคลับของ จ้าว ลี่อิง เจ้าของฉายา “ราชินีจอแก้ว - ผลงานทางจอโทรทัศน์ปังแทบทุกเรื่อง” ได้เกิดดราม่าบนโซเชียลจีน กับกลุ่มแฟนคลับของ “หวังอี้ป๋อ” เพราะมีข่าวลือออกมาว่า ทั้งคู่ที่เคยเป็นคู่พระนางในซีรี่ย์ “นางโจร (Legend of Fei)” จะได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง โดยแฟนคลับจ้าวลี่จิงไม่พอใจ มองว่านางเอกอันเป็นที่รักของพวกเขา ไม่ควรร่วมงานกับอีกฝั่ง ที่พวกเขาอ้างว่า แฟนคลับทางนั้นเคยใส่ร้ายนางเอก ทั้งฝั่งแฟนคลับจ้าวลี่อิงและแฟนคลับหวังอี้ป๋อ ต่างดราม่ากันเดือด Weibo
จากดราม่าแฟนคลับทั้งสอง จบด้วยผลของมาตรการ “ชิงหล่าง” ของทางการจีน แพลตฟอร์ม Weibo ถูกระงับบัญชีผู้ใช้งาน 2,150 บัญชี ลบข้อความ-ความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม 1,300 ความคิดเห็น และแบนบัญชีห้ามใช้งานถาวรอีก 140 บัญชี ซึ่งเกี่ยวข้องกับฝั่งจ้าวลี่อิง และอีก 60 บัญชี เกี่ยวข้องกับฝั่งหวังอี้ป๋อ
โดยบัญชีทางการของต้นสังกัดจ้าวลี่อิง (Weibo: 赵丽颖工作室) โดนระงับการใช้งาน 15 วัน เพราะไม่มีการดำเนินการห้ามปรามและจัดการแฟนคลับอย่างทันท่วงที ซึ่งเมื่อเข้าไปดูในบัญชี Weibo ดังกล่าว พบว่า ไม่มีการเคลื่อนไหวตั้งแต่โพสต์ล่าสุดเมื่อ 22 สิงหาคม 2564
ทั้งนี้ มาตรการชิงหล่าง ยังครอบคลุมไปถึงการควบคุมเรื่องการระดมทุน หรือเชิญชวนเยาวชนให้เสียเงินเสียทองไปกับการสนับสนุนดาราคนดังในฐานะแฟนคลับอีกด้วย
Leave A Comment