Slow Fashion เลือกเสื้อผ้าอย่างไร ให้เป็นมิตรกับโลก
ทุกวันนี้กระแสการบริโภคแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นกระแสระดับโลก และเริ่มมีมากขึ้นในประเทศไทย อย่างการหลีกเลี่ยงใช้พลาสติก การเลือกกินอาหารปลอดสารพิษ แต่มีอีกเรื่องที่อาจไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก แต่ก็ส่งผลกับโลกเยอะพอ ๆ กับการใช้พลาสติก นั่นคือการใช้เสื้อผ้าของเรา
บางคนอาจสงสัยว่าการซื้อเสื้อผ้าของเราทำลายสิ่งแวดล้อมขนาดนั้นเลยเหรอ? คำตอบคือใช่ ในสารพัดด้านเลย [1] อุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งระบบ ไม่ใช่ส่งผลกระทบแค่เรื่องภาวะโลกร้อน แต่ยังปล่อยสารเคมีไปสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติอย่างมากมายมหาศาลอีก
© Michael Löwa / Greenpeace
อุตสาหกรรมแฟชั่นนี่แหละคือหนึ่งในตัวการทำลายธรรมชาติแท้ๆ แม้ภายนอกจะดูไม่มีอะไร
โลกตะวันตกมีการตระหนักถึงปัญหานี้มานานแล้ว และก็ได้มีความเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาการทำลายสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ความเคลื่อนไหวนี้เรียกรวมๆ ว่า Slow Fashion ซึ่งไอเดียของขบวนการก็คือ การเลือกใส่เสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ และเป็นธรรมต่อเพื่อนมนุษย์
แต่ก่อนที่เราจะเข้าใจในรายละเอียดว่า Slow Fashion คืออะไร เราคงต้องเข้าใจที่มาของสิ่งที่ขบวนการนี้คัดค้านก่อน ซึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า Fast Fashion
เสื้อผ้าเป็นสิ่งที่อยู่คู่มนุษย์มานานนมแล้ว ซึ่งสมัยก่อนโน้นเสื้อผ้าไม่ใช่สิ่งที่หาง่าย ๆ และมีราคาถูก คนจะสร้างเสื้อผ้าขึ้นมาใส่ทีก็ต้องเลือกเสื้อผ้าให้ใช้ได้หลายโอกาส ให้ใส่ได้นาน ๆ อย่างไรก็ดี ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม (ซึ่งก็บังเอิญเหลือเกินที่อุตสาหกรรมที่เริ่มปฏิวัติคืออุตสาหกรรมทอผ้า) เสื้อผ้าก็ค่อย ๆ กลายมาเป็นของราคาถูกลงเรื่อย ๆ และคนก็สามารถจะซื้อเสื้อผ้าได้ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดแบรนด์เสื้อผ้าระดับมวลชนจำนวนมากตามมา และวิธีคิดการผลิตเสื้อผ้าเชิงอุตสาหกรรมก็ถึงจุดสูงสุดเมื่อราว ๆ 30 ปีที่แล้วกับกระแสที่เรียกว่า Fast Fashion
อะไรคือ Fast Fashion? หลักการตั้งต้นก็คือการผลิตเสื้อผ้าออกมาให้เร็วตามกระแสที่สุด เรียกได้ว่าเห็นนางแบบเดินที่งาน Fashion Week ใหญ่ ๆ แวบเดียว แบรนด์ก็ผลิตเสื้อผ้าในสไตล์นั้นออกมาขายในร้านในราคาถูกได้ในเวลาไม่ถึงเดือน
แนวคิดแบบนี้ฟังดูดี เพราะมันทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าที่ต้องการได้เร็ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง เบื้องหลังของมันก็คือกระบวนการผลิตที่โหดสุด ๆ กับแรงงานเพื่อให้ได้ความเร็วขนาดนี้ แต่ส่วนที่เลวร้ายกับโลก ก็คือ แนวทางของการผลิตเสื้อผ้าแบบนี้เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมแบบ “ใช้แล้วทิ้ง” เพราะมันทำให้กระแสเสื้อผ้าเปลี่ยนเร็วมาก บางทีเดือนสองเดือนก็เปลี่ยนแล้ว ไม่ได้เปลี่ยนไปตามฤดูกาลแบบสมัยก่อน ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการเสื้อผ้าราคาถูก ๆ ที่ไม่ต้องคิดจะใส่นาน ทิ้งได้ไม่เสียดาย และอุตสาหกรรมเสื้อผ้าก็สร้างเสื้อผ้ามาตอบรับแนวคิดนี้ ด้วยวัตถุดิบที่ถูกที่สุด
© Michael Löwa / Greenpeace
ซึ่งวัตถุดิบเสื้อผ้าที่ถูกที่สุดคือใยสังเคราะห์แบบโพลีเอสเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเสื้อผ้า 60% ที่ขาย ๆ กันตามร้านค้าปลีกเสื้อผ้า [2] และโพลีเอสเตอร์นี่แหละตัวร้ายเลย
โพลีเอสเตอร์ สังเคราะห์มาจากถ่าน ปิโตรเลียม อากาศ และน้ำ ซึ่งหลายคนคงดูส่วนประกอบก็รู้แล้วว่าย่อยสลายตามธรรมชาติไม่ได้แน่ ๆ ซึ่งก็จริงตามนั้น และนั่นหมายความว่าถ้าเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์กลายมาเป็นขยะ ก็ต้องเผาทำลายเท่านั้น และดูส่วนประกอบก็คงจะเห็นว่ามันเป็นเชื้อเพลิงทั้งนั้น เผาไปเกิดคาร์บอนไดออกไซด์เต็มไปหมด และนั่นก็หมายความว่าในกระบวนการทำลายเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ ทำให้เกิดโลกร้อน ซึ่งก็คิดดูว่าอุตสาหกรรมที่หากินด้วยการสร้างเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ให้คนมาใส่แบบใช้แล้วทิ้ง ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนทางอ้อมไปขนาดไหน
แต่ความเลวร้ายของโพลีเอสเตอร์ไม่ใช่แค่นั้น เพราะแค่เวลาซัก เส้นใยของมันบางส่วนก็จะหลุดไปตามน้ำ และนั่นคือการปล่อย “ไมโครพลาสติก” ไปสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ กล่าวคือ ในช่วงก่อนหน้านี้ที่มีข่าวว่าคนไปเจอไมโครพลาสติกในกระเพาะปลา มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่เรียกว่า Fast Fashion เลย เพราะกระแสการผลิตเสื้อผ้าแบบนี้มันอิงกับการผลิตเสื้อผ้าที่เร็วและถูกที่สุด ซึ่งวัตถุดิบที่ตอบโจทย์เสื้อผ้าในลักษณะนี้ก็คือโพลีเอสเตอร์
นี่คือบางส่วนของ “ปัญหา” ที่เกิดจากแนวทางการบริโภคเสื้อผ้าของคนปัจจุบันส่วนใหญ่ภายใต้กระแส Fast Fashion ซึ่งแม้ว่าเราจะแทบไม่ได้ยินคำนี้เลย แต่ไปดูเถอะ ร้านเสื้อผ้าใหญ่ ๆ ตามห้าง หรือกระทั่งแผงเสื้อผ้าตามตลาดนัด มันก็ล้วนถูกผลิตมาภายใต้แนวคิดนี้แทบทั้งนั้น
อธิบายแบบนี้ ก็เหมือนไม่มีแนวทางให้เรา “หนี” จากการบริโภคเสื้อผ้าแบบ Fast Fashion ทำยังไงก็ช่วยโลกไม่ได้ ก็ของมันมีขายกันแบบนี้ แต่ใจเย็น ๆ ทางออกยังมี และนี่คือสิ่งที่เรียกว่า Slow Fashion
กระแส Slow Fashion ค่อย ๆ ก่อตัวมาราว ๆ 20 ปีแล้ว แต่มาเป็นกระแสที่ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลัก ๆ ก็คือ แนวทางการเลือกการแต่งตัวแบบที่จะทำร้ายธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์น้อยที่สุด
© Isadora Tast / Greenpeace
แล้วใส่เสื้อผ้าแบบไหนถึงเป็น Slow Fashion? ถ้าเอาแบบหนักที่สุดก็คือ ไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่เลย แบบนี้ Slow ยิ่งกว่า Slow เพราะมันไม่มีอะไรจะดีกว่าธรรมชาติไปมากกว่าการไม่ต้องผลิตเสื้อผ้าเพิ่มไปอีกแล้ว
แต่แน่นอน แนวทางแบบนี้ก็อาจหนักไปสำหรับคนจำนวนมาก อีกแนวทางที่เป็นไปได้ก็คือการเลือกใช้เสื้อผ้ามือสองเป็นหลัก เพราะนี่ก็เป็นการได้มาซึ่งเสื้อผ้าใหม่ ๆ แบบที่ไม่สร้างความเสียหายเพิ่มเติมกับธรรมชาติแน่นอน
อย่างไรก็ดี นี่ก็ไม่ได้หมายความว่า Slow Fashion นั้นห้ามผลิตเสื้อผ้าใหม่ ๆ เลย ในทางตรงกันข้าม แนวคิดมันเกิดจากการหาทางผลิตเสื้อผ้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ที่สุดด้วยซ้ำ ซึ่งเสื้อผ้าที่ผลิตภายใต้แนวคิดแบบ Slow Fashion ลักษณะเด่น ๆ ก็คือ
จะต้องใช้เส้นใยที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ – พวกใยสังเคราะห์และขนสัตว์นี่จะไม่มีเลย (ไม่ต้องพูดถึงหนังสัตว์) ซึ่งที่ฮิต ๆ กันก็จะมีพวกลินิน กัญชง ซึ่งเป็นเส้นใยจากพืช เน้นเสื้อผ้าที่ผลิตมาแบบคงทนถาวร ใส่ได้นาน ๆ ไปจนถึงไม่ต้องซักบ่อย – มิตินี้เป็นการต้าน Fast Fashion ชัด ๆ เพราะกระแสเสื้อผ้ายุคใหม่คือเน้นผลิตมาให้ใส่ไม่กี่รอบแล้วทิ้ง ซึ่งสร้างทั้งขยะในกระบวนการผลิต และขยะตอนเสื้อผ้าถูกทิ้งมากมายมหาศาล ดังนั้น Slow Fashion คือเน้นเสื้อผ้าที่ออกแบบมาให้ใส่ได้นาน ๆ นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในกรณีของเมืองหนาวที่คนเหงื่อไม่ออกนัก มิตินี้บางทีรวมถึงการออกแบบเสื้อผ้าที่ไม่ต้องซักบ่อยด้วย เพราะการซักแต่ละครั้งนอกจากทำให้เสื้อผ้าเสื่อมสภาพแล้ว ก็ยังเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำด้วย มักจะมีกระบวนการผลิตให้จบในท้องถิ่น – การผลิตในที่เดียวทำให้กระบวนการผลิตทั้งกระบวนการโปร่งใส ผู้ผลิตสามารถเคลมได้ชัด ๆ ว่าไม่มีการเอาเปรียบแรงงาน นอกจากนี้การผลิตให้จบในที่เดียวไม่ต้องผ่านกระบวนการขนส่งมากมายก็ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากระบบขนส่งด้วย
เงื่อนไขทั้งหมดที่ว่ามาทำให้เสื้อผ้าแบบ Slow Fashion นั้นแทบไม่มีแบรนด์อินเตอร์เลย เพราะการบริโภคแบบ Slow Fashion แท้ ๆ แทบจะต้องบริโภคแบรนด์ท้องถิ่นเท่านั้น เนื่องจากนี่เป็นหนทางการบริโภคที่เป็นมิตรกับธรรมชาติที่สุดแล้ว ซึ่งในไทยก็จะมีบางแบรนด์เช่น KLAI หรือ FolkCharm ที่จะผลิตเสื้อผ้าในแบบ Slow Fashion โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ดี ในกรณีของแบรนด์ใหญ่ ๆ ระดับโลก ทุกวันนี้ก็เริ่มมีการผลิตไลน์ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Slow Fashion มาตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคเช่นกัน
…แต่เราก็คงต้องดูดีๆ เพราะอย่างน้อยๆ แบรนด์ใหญ่ที่เป็นหัวหอกเรื่องนี้ก็ถูกโจมตีมาแล้วว่าไม่ได้ห่วงสิ่งแวดล้อมจริง เพราะก็ยังมีการเผาเสื้อผ้าที่ขายไม่ได้แต่ยังใช้ได้ทิ้งเป็นปีละกว่าสิบตัน แม้ว่านั่นจะเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าก็ตาม [3]
อ้างอิง
[1] จากรายงาน Measuring Fashion: Environmental Impact of the Global Apparel and Footwear Industries อ่านออนไลน์ได้ที่
[2] ดู
[3] ดู
Leave A Comment