รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น อ่านตารางเปรียบเทียบก่อน ซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เลย

รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น อ่านตารางเปรียบเทียบก่อน ซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เลย

ปัจจุบันนี้ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถือเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เนื่องจากคนที่ใช้ชีวิตในเมือง จะต้องเผชิญกับการจราจรที่ติดขัด บวกกับความเร่งรีบ ที่ชีวิตคนในเมืองส่วนใหญ่จะหมดไปกับ การเรียน การงานที่หนักหนาสาหัส หรือแม้แต่การเล่นโซเชียลมีเดีย ต่างๆ ไปแล้วในแต่ละวัน ครั้นกลับบ้านมาจะต้องมาเสียเวลาในการทำความสะอาดบ้าน ไปกับ การกวาดบ้าน ถูบ้าน ดูดฝุ่นบนพรม ไปอีกก็จะทำให้เวลาพักผ่อนน้อยลงไปอีก และยิ่งถ้าหากไม่ทำความสะอาดไปนานๆ เข้าฝุ่นก็จะเข้ามาสะสมเยอะ มิหนำซ้ำยังอาจมีสัตว์ แมลง แมง ต่างๆ มาขออาศัยอยู่เป็นเพื่อนเราอีกด้วย แค่คิดก็หยึ๋ยซะแล้ว

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของการพัฒนา เครื่องใช้ไฟฟ้า ในรูปแบบ อุปกรณ์แก็ดเจ็ต (Gadget) สุดล้ำ ที่เราเรียกกันว่า “หุ่นยนต์ดูดฝุ่น” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “โรบอทแวคคั่มคลีนเนอร์ (Robot Vacuum Cleaner)” โดยในปัจจุบันนี้ มันกลายเป็นผู้ช่วยสุดล้ำ ที่ทำให้คุณลืมเรื่องการกวาดบ้านถูบ้านไปได้เลย เพราะมีเจ้าผู้ช่วยสุดฉมังตัวนี้ เปรียบเสมือนมีแม่บ้านแสนดี ไม่มีคำว่าอู้งาน ไม่ขี้เกียจ คอยช่วยทำความสะอาดแทนคุณ เรียกได้ว่า ประหยัดเวลาไปได้เยอะ แถมการทำความสะอาดด้วยหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ก็ยังสะอาด กว่าการทำความสะอาดบ้านด้วยตัวเองอีกด้วย เพราะอะไร ? บทความนี้มีคำตอบครับ

ถ้าหากเรากวาดบ้านถูบ้านด้วยตัวเองนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เวลาเรากวาดบ้านนั้น เศษฝุ่นละออง เศษขยะ ต่างๆ ก็อาจจะตกค้างอยู่รอบๆ ตามขอบมุมของบ้านได้ เพราะเวลาเรากวาดขยะเข้าที่โกยผง (ที่โกยขยะ) เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า สะอาดอย่างแท้จริง 100% เนื่องจากขณะเรากวาด เศษผงมันก็อาจจะลอย หรือกระจัดกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่เราคาดไม่ถึงก็ได้เช่นกัน

แต่การใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นนั้น เวลามันวิ่งทำความสะอาด มันจะไม่ใช่แค่เป็นการปัดกวาดฝุ่นเหล่านั้นไปที่อื่น แต่เป็นการดูดเอาเศษฝุ่น เศษขยะต่างๆ เข้าไปเก็บไว้ภายในตัวเครื่อง (กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง – Dustbin) ของเครื่องเลย ดังนั้นโอกาสที่ฝุ่นจะปลิวไปที่อื่นจึงน้อยมากๆ แถมหุ่นยนต์ดูดฝุ่นบางรุ่นนั้นมีพลังการดูดที่แรงมาก โอกาสที่ฝุ่นจะเล็ดลอดออกไปแทบจะเป็นศูนย์เลยทีเดียว

และถ้าหากใครที่คิดจะซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น เอาไว้ใช้ในบ้าน คอนโดมิเนียม หรือหอพัก ผมอยากให้คุณได้บทความนี้ ให้จนจบ เพื่อให้คุณได้ซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ากับความต้องการการใช้งานให้ได้มากที่สุด ในงบประมาณที่เหมาะสม

หากใครอยากจะลองฟังรูปแบบของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นว่ามันมีอะไรยังไงบ้าง ลองฟังเสียงสัมภาษณ์ของผมที่เคย ให้สัมภาษณ์กับรายการวิทยุ ชื่อ “IT24Hrs” ออกอากาศทาง FM 106.0 โดย คุณเอิ้น ปานระพี รพิพันธุ์ ดูก่อนที่จะกดเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ด้านล่างนี้เลย

หากพูดถึงกระแส หรือ ความฮอตฮิตหุ่นยนต์ดูดฝุ่นในบ้านเรานั้น เห็นจะมาสนใจกันในยุคประมาณปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) แต่มาแรงฮิตติดลมบน เอามากๆ กันในช่วงปี ค.ศ. 2014 นี่เอง

เนื่องจากตอนผมต้นปี ค.ศ. 2013 หลังจากที่ย้ายมาอยู่ที่คอนโดมิเนียมแล้วอยากจะได้เครื่องทุ่นแรง ในการช่วยทำความสะอาดบ้านเลยคิดอยากจะ ซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ดีๆ สักเครื่องมาใช้งาน เท่าที่หาดูในเน็ต ตอนนั้น ปรากฏว่ามีแค่ของ ไอโรบอท (iRobot) แอลจี (LG) และ ซัมซุง (Samsung) เท่านั้นเอง ที่ทำตลาดอยู่ในบ้านเรา

แต่ก่อนหน้านี้ เมื่อนานมากแล้ว ผมเคยเห็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ยี่ห้อ คาร์เชอร์ (Karcher) จากประเทศเยอรมัน ถูกนำเข้ามาจำหน่ายที่ร้านวีรสุ (Veerasu) ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเกรดพรีเมี่ยม (ของคุณภาพสูง แต่ราคาก็สูงตามด้วย) ส่วนใหญ่นำเข้าสินค้ามาจากทวีปยุโรป ซึ่งเคยเช็คราคาแล้วปรากฏว่าแสนกว่าบาท เลยต้องล้มเลิกความตั้งใจออกไป

แต่หลังจากเข้าไปดูประวัติของมันแล้ว ที่ว่าขายราคาแสนกว่าบาทนั้นไม่แปลกใจ เพราะว่า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น Karcher นั้นถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่คิดค้นเทคโนโลยี หุ่นยนต์ดูดฝุ่นขึ้นมา และ ที่สำคัญถูกผลิตและจำจัดหน่ายมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 หรือ พ.ศ. 2545) ซึ่งการที่จะให้มันวิ่งดูดฝุ่นเองได้อัตโนมัติ แถมยังมีฐาน หรือ แท่นชาร์จ ให้มันวิ่งกลับมาชาร์จได้เองโดยอัตโนมัติ นั้นถือว่าไม่ธรรมดาเอามากๆ แล้ว ในยุคสมัยนั้น (ข้อมูลจาก เว็บไซต์ Wikipedia)

แต่ปัจจุบันนี้มันมีแบรนด์อื่นๆ ที่เข้ามาทำตลาดอีกมากกว่า 10 แบรนด์เลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์จาก ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างพวก iRobot Neato และ Mamibot ที่ทั้ง 3 เป็นบริษัทที่ เน้นพัฒนาแต่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นอย่างเดียว (เฉพาะทาง ตรงสาย) ต่างก็รุกเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยมากขึ้น และที่สำคัญผลตอบรับก็ดีด้วย

ซึ่งผมกล้าบอกตรงนี้เลยว่าดีจริง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น มันไม่ใช่ของเล่น และ ไม่ได้พังง่ายๆ เหมือนที่คิดเลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างมาประกอบกัน เช่น ราคา คุณภาพ ความสามารถ ซึ่งก็เทียบกันได้ง่ายๆ คือ

ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น หากคุณคาดหวังอยากได้ของคุณภาพดี แต่มีงบประมาณจำกัด จะหาคุณภาพมาจากไหนเล่า ?

หลังจากที่ผมได้ทำ รีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่น มาเป็นจำนวนมาก ก็เริ่มเห็นข้อดีข้อเสีย ฟีเจอร์ ลูกเล่น พร้อมกับ ฟังก์ชั่นความสามารถต่างๆ ของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ว่ารุ่นท็อป ราคาแพงๆ ว่าเขามีอะไรบ้าง หรือรุ่นถูกๆ เขาตัดอะไรออกไปบ้าง รวมไปถึงว่าเห็น หลักการทำงานของมันเป็นอย่างไร ถ้าเทียบกับรุ่นล่างๆ ที่ราคาถูก เน้นประหยัด

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น มันก็เหมือนกับรถเก๋งที่วิ่งกันอยู่บนท้องถนน ที่สามารถวิ่งตามท้องถนนได้เหมือนกัน แต่มันมีปัจจัยยิบย่อย ให้ลงลึกไปศึกษาในรายละเอียดได้อีกเยอะพอสมควร ทั้งวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ทำ ความแข็งแรง ประสิทธิภาพ สมรรถนะ ลูกเล่นต่างๆ ก็ต่างกันมากมาย หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ก็เช่นเดียวกันที่มันสามารถวิ่งดูดฝุ่นได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะฉลาด ดูดสะอาด ได้เหมือนกันทุกตัว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพ คุณภาพก็ขึ้นอยู่กับราคา ของพวกนี้มันแปรผันกันตรงๆ อยู่แล้ว

และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมขอแบ่งหุ่นยนต์ดูดฝุ่นออกไปตามปี เพราะเนื่องจากมันออกมาเยอะเหลือเกิน ผมจึงแบ่งมุมนำเสนอออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

• หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ถูพื้นแบบแห้ง หรือ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ไม่มีถังน้ำมาให้

หุ่นยนต์ดูดฝุ่นในส่วนนี้จะเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น อย่างเดียว (ถูพื้นไม่ได้) หรือ เป็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่สามารถ ถูพื้นแบบแห้ง (Dry Mopping) ได้ โดยมี ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ (Microfiber Cloth) พร้อมที่ติดผ้าม็อบฯ ด้านท้ายเครื่อง มาเป็นออปชั่น ทางเลือก ให้ผู้ใช้งาน

ในปัจจุบัน (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 เป็นต้นมา) ได้มีการพัฒนาไปอีกขั้นคือมี หุ่นยนต์ดูดฝุ่น จำนวนมากหลายยี่ห้อ หลายรุ่น ที่ได้พ่วงเอาคุณสมบัติ ของ หุ่นยนต์ถูพื้น (Floor Mopping Robot) มาให้ด้วย ซึ่งการถูพื้นที่ว่านี้จะเป็น การถูพื้นแบบเปียก (Wet Mopping) โดยจะมี ถังน้ำ (Water Tank) ขนาดเล็ก ความจุประมาณไม่เกิน 0.5 ลิตร (แล้วแต่สเปคของแต่ละเครื่อง) เป็นออปชั่นเสริม ให้ติดตั้งอยู่ท้ายเครื่อง (จะติดก็ได้ หรือ ไม่ติดก็ได้)

โดยหลักการการทำงานคือ ถังน้ำ ที่ว่านี้ก็จะคอยหยดน้ำ ลงไปบน ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ที่อยู่ด้านล่าง ให้มีความเปียกชุ่มตลอดเวลา (ถ้าน้ำยังไม่หมดถัง) เหมือนกับการถูพื้นด้วยคนจริงๆ

ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงขอแยก หุ่นยนต์ดูดฝุ่นในประเภทนี้ ออกมาเป็นอีกกลุ่มนึงเลย เพื่อความง่าย และ สะดวกต่อการทำความเข้าใจนั่นเอง

เนื่องจากพื้นที่ในตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นนั้น มีขนาดพื้นที่ของช่องใส่ข้อมูล (ขนาดของ Cell) ที่มีค่อนข้างที่จะจำกัดมากๆ ดังนั้นจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบาย คุณสมบัติและความสามารถของมันแบบเจาะลึก เพื่อทำความเข้าใจในแต่ละส่วนอย่างละเอียด ลองมาอ่านกันดูเลย

ส่วนแรกนี้จะพูดถึง “ระบบการนำทางของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น” หรือ “Robot Vacuum Navigation System” ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ของมันเลยก็ว่าได้ (ถึงเอาไว้หัวข้อแรก และ แยกออกมาจากหัวข้ออื่น) เพราะต่อให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเครื่องนั้น มีพลังดูดมากแค่ไหน แปรงกวาดตีฝุ่นเข้ามาเก็บได้ดีแค่ไหน กล่องใส่ขยะฝุ่นละอองขนาดใหญ่แค่ไหน ถ้ามันไม่วิ่งผ่านพื้นที่ที่ควรไปทำความสะอาด ก็คงจะไม่มีประโยชน์เลย ยิ่งไปกว่านั้นถ้ามันออกไปแล้ว จำทางกลับบ้าน (แท่นชาร์จ) ไม่ได้ หรือ พาตัวเองกลับมาชาร์จยังแท่นชาร์จไม่ได้ ยิ่งจะมีปัญหาหนัก เพราะเราต้องไปเดินตามหามันและยกกลับมายังแท่นชาร์จให้เสียเวลาอีก ส่วนนี้จะขอพูดถึงรูปแบบของการนำทางของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ซึ่งจากที่สรุปมาได้ มีอยู่ทั้งหมด 3 รูปแบบหลักๆ ด้วยกันคือ

การนำทางแบบดั้งเดิม จะใช้เซ็นเซอร์แบบอินฟราเรด ที่ถูกติดตั้งอยู่รอบๆ ตัวเครื่อง ในการยิงสัญญาณออกไปตกกระทบกับวัตถุที่อยู่รอบๆ หาพื้นที่ว่างไปเรื่อยๆ หากชนก็จะเด้งกลับมา

สังเกตง่ายๆ คือ บนตัวเครื่องจะมีกล้องขนาดเล็กเห็นชัดเจน โดยมากจะฝังอยู่ใต้กระจกหรือพลาสติกใส เพื่อป้องกันฝุ่น โดยกล้องจะเหมือนกับ กล้องบนโทรศัพท์มือถือ เป็นกล้องที่มีความคมชัดในระดับนึง ในการถ่ายรูปเป็นเฟรมๆ ไป เพื่อนำไปประมวลผลในการวิ่งนำทาง

ด้านบนของตัวเครื่อง (อาจจะเป็นด้านหน้า หรือ ด้านหลังตัวเครื่อง) จะมีโดมกลมๆ ใหญ่ๆ อยู่ ข้างในจะเป็นวงกลมหมุนๆ มีหัวยิงเลเซอร์ (ที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์) ออกมาเพื่อตกกระทบกับวัตถุรอบๆ ข้าง

หมายเหตุ : ระบบการนำทางทั้ง 3 แบบ อาจทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ตัวอื่นๆ ด้วย เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มีการนำทางด้วยเลเซอร์ หรือ กล้องสร้างแผนที่จำลอง อาจมีอินฟราเรดเซ็นเซอร์ มาช่วยเสริมด้วยในบางจุด เป็นต้น หรือแม้แต่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่นำทางด้วย อินฟราเรดเซ็นเซอร์ อาจมี เซ็นเซอร์อื่นๆ เสริมความสามารถด้วย เช่น ไจโรสโคปเซ็นเซอร์เซ็นเซอร์ (Gyroscope Sensor) หรือแม้แต่ มิเตอร์ความเร่ง (Accelerometer) โดยทั้งหมดทั้งมวล ควรศึกษา และ อ่านจากบทความรีวิวของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น แต่ละตัวที่สนใจ อย่างละเอียดอีกครั้ง

คือลักษณะรูปทรงที่เห็น หรือ รู้สึกได้ สามารถวัดค่าออกมาได้เป็นตัวเลข เห็นอย่างชัดเจนในแต่ละรุ่น ตัวเลขต่างๆ อาจจะมีคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่เราได้ถือว่าใกล้เคียงมากที่สุด

หุ่นยนต์ดูดฝุ่น มีหลากหลายรูปทรง โดยหลักๆ คือ “ทรงกลม (Round Shaped)” กับ “ทรงเหลี่ยม (Squared Shaped)” แต่บางตัวมีรูปทรงด้านหลังเป็นทรงกลม และ ด้านหน้าเป็นทรงเหลี่ยม แต่ด้านหลังเป็นทรงกลม ในบทความนี้เรียกว่า “ทรงครึ่งกลมครึ่งเหลี่ยม (Half Round-Half Square Shaped)” ก็มีเช่นกัน ทั้งนี้ การที่ด้านหน้าของตัวเครื่องเป็นทรงเหลี่ยม ก็เพื่อความสะดวกต่อการ วิ่งดูดฝุ่น และ เข้ามุมต่างๆ ในขณะที่ ด้านหลังเป็น ทรงกลม ก็เพราะ จะได้หมุนพลิกตัวไปมา เคลื่อนที่ได้อย่างคล่องแคล่วได้ง่ายยิ่งขึ้น นั่นเอง

เราได้แบ่งเป็น ยาว x กว้าง x สูง หน่วยเป็นมิลลิเมตร (mm.) ซึงส่วนใหญ่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่เป็น ทรงกลม ขนาดความยาว และ ขนาดความกว้าง จะเท่ากัน (เพราะมันกลมนิ) โดยหากต้องการแปลงค่าจากหน่วยมิลลิเมตร (mm.) เป็น เซนติเมตร (cm.) ที่หลายคนคุ้นเคย ก็สามารถแปลงได้ง่ายๆ โดยการนำค่าตัวเลขจากหน่วยมิลลิเมตร มาหารด้วยสิบ จะได้ค่า เซนติเมตร ทันที

น้ำหนักสุทธิ (Net Weight) ของตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (ไม่ใช่น้ำหนักทั้งกล่องผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ดูดฝุ่น) ซึ่งทั้งหมดจะเป็นน้ำหนักตัวเครื่องที่รวมแบตเตอรี่แล้ว หน่วยเป็นกิโลกรัม (kg)

หมายเหตุ : ในกรณีถ้าเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ถูพื้นแบบเปียกได้ น้ำหนักตรงนี้จะไม่รวม น้ำหนักของน้ำที่ใส่อยู่ในถังน้ำ

ขนาดความจุของแบตเตอรี่ หน่วยเป็นมิลลิแอมป์ (mAh) ยิ่งมากก็ยิ่งดูดได้นานขึ้น ซึ่งยกตัวอย่างอย่างขนาดความจุแบตเตอรี่ของ iPhone 6 อยู่ที่ 1,810 mAh เป็นต้น

ประเภทหรือชนิดของแบตเตอรี่ (Battery Type) ที่เอาไว้ใช้เก็บประจุไฟ เพื่อจ่ายเลี้ยง ให้กับเครื่อง หุ่นยนต์ดูดฝุ่นของเรา ซึ่งหลักๆ แล้วจะมี 3 ประเภท ด้วยกันคือ

• : แบตเตอรี่แบบเก่า ราคาถูก ปริมาณความแรงของไฟที่จ่ายออกมา จะขึ้นอยู่กับ ปริมาณไฟที่คงเหลืออยู่ในแบตเตอรี่ เช่น ถ้าเพิ่งชาร์จไฟเสร็จใหม่ๆ จะแรง แต่พอแบตเตอรี่ใกล้หมด ไฟก็จะอ่อนลงตามลำดับ แต่มีความอึดสูง ไม่ต้องดูแลรักษาอะไรมากมาย

• : แบตเตอรี่แบบใหม่ ราคาสูงกว่า Ni-MH มีการจ่ายไฟที่คงที่ และ นิ่งกว่า (แรงอย่างสม่ำเสมอ) ตั้งแต่แบตเตอรี่ที่เพิ่งชาร์จเสร็จใหม่ๆ ใช้ไปเรื่อยๆ จนถึงแบตเตอรี่ใกล้หมด แต่ต้องมีการดูแลรักษา และ เก็บอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เช่น ต้องเก็บในที่ที่มี อุณหภูมิ ความชื้น ในระดับที่เหมาะสม มิเช่นนั้นอาจเป็นการลดอายุของแบตเตอรี่ประเภทนี้ได้ (รายละเอียดเพิ่มเติม ของ แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน – Li-Ion)

• : เป็นภาคต่อของ แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ที่เน้นในเรื่องของ การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยกว่า ทนความร้อนและรองรับอุณหภูมิได้สูงกว่า ลดความเสี่ยงต่อการระเบิดขณะใช้งาน มีการจ่ายไฟฟ้าที่แรงกว่า และ อาจุการใช้งานยาวกว่าแบตเตอรี่ทั้ง 2 ที่ได้กล่าวมา

ส่วนนี้คือขนาดความจุของกล่องใส่ขยะฝุ่นละออง (บางบทความผมเรียกว่า “Dustbin” หรือไม่ก็ “Dirtbin“) หน่วยวัดจะใช้ เป็นลิตร (Litre) ถ้ามีปริมาณมากเท่าไหร่ ก็จะเก็บฝุ่นได้มากเท่านั้น

ตรงจุดนี้ ถ้าหากคุณทำความสะอาดกล่องใส่ขยะทุกวันขนาดของกล่องใส่ขยะ ก็จะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอะไร เพราะ เป็นเรื่องยากมาก ที่จะดูดครั้งนึงแล้วเต็มความจุ นอกจากห้อง หรือ สถานที่นั้นจะสกปรกจริงๆ

อุปกรณ์ “ถังน้ำ (Water Tank)” เป็นออปชั่นเสริมของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ประเภท ถูพื้นแบบเปียก (Wet Mopping) ที่ปัจจุบันนี้ (ค.ศ. 2016 ถึง 2017) ค่อนข้างเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เพราะมันสามารถบรรจุน้ำเข้าไปในถัง แล้วมันจะคอยๆ หยดน้ำลงมาทีละนิด ผ่าน ผ้าม็อบถูพื้นไมโครไฟเบอร์ ให้มีความชุ่มชื้น หรือเปียก (Wet) อยู่ตลอดเวลา โดยไม่ต้องหมั่นคอยเอาผ้าไปชุบน้ำบ่อยๆ ในขณะที่เครื่องกำลังทำงาน เพื่อให้ผ้าเปียก โดยใช้หน่วยวัดเป็นลิตร (Litre)

คือระดับความดังของเสียงขณะที่ เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น กำลังทำงาน หน่วยวัดเป็นเดซิเบล (dB) ซึ่งระดับความดังมาตรฐาน ในแต่ละระดับของ แอพพลิเคชั่น LINE Tools ได้ระบุเอาไว้ดังต่อไปนี้

ขนาดความกว้างของแปรงกวาดหลัก ยิ่งกว้างมาก โอกาสที่จะ สัมผัสฝุ่นบนพื้น และ ดูดมันขึ้นมาจากพื้น ก็มีมากขึ้นตามลำดับไปด้วยเช่นกัน

หน่วยเป็น เซนติเมตร (cm.) หากมันสามารถวิ่งผ่านพื้นที่ต่างระดับ หรือ ธรณีประตู (Doorsill) ได้เยอะๆ ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะมันสามารถวิ่งข้ามห้อง ผ่านพื้นที่ต่างระดับระหว่างห้องพื้นกระเบื้อง กับ พื้นพรม หรือแม้แต่ พรมเช็ดเท้าต่างๆ ได้ดี เอาตัวรอดจากพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถลดโอกาสเครื่องติดสิ่งกีดขวางได้อีกด้วย โดยมาตรฐานแล้ว หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ส่วนใหญ่ที่ทำได้ ก็เฉลี่ยประมาณ 1.5 เซนติเมตร บวกลบกันนิดหน่อย

สีหลักที่ตัวเครื่อง บางเครื่องอาจจะมีสีอื่นปะปนอยู่บ้าง ทั้งนี้เพื่อการออกแบบดีไซน์ ที่สวยงาม แต่ผมยึดตามสีส่วนมาก ที่ปรากฏบนตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น

อุปกรณ์เสริมของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ส่วนมากแล้วจะมีคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น รีโมทคอนโทรล (Remote Control) ที่ใช้สั่งงานหุ่นยนต์ดูดฝุ่นระยะไกลได้ หรือแม้แต่ ตัวสร้างกำแพงจำลอง (Virtual Wall) แปรงข้าง (Side Brush) แบบนี้เป็นต้น ขณะที่เขียนบทความนี้ (กรกฎาคม 2016) เท่าที่ดูหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ยังมีออปชั่นไม่เกินนี้ มาดูคำอธิบายทีละข้อกันเลย

หุ่นยนต์ดูดฝุ่นบางตัว บางรุ่น บางยี่ห้อ จะสามารถติดผ้าไมโครไฟเบอร์ หรือบางคนอาจจะรู้จักในนามคำว่า “ผ้าม็อบ” เข้าไปได้ที่ท้ายเครื่อง เพื่อความสะอาดที่หมดจด และ ละเอียดมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนมาก ผ้าไมโครไฟเบอร์ จะมีคุณสมบัติดูดจับฝุ่นได้ดีอยู่แล้ว ซึ่งขณะใช้งานคุณสามารถนำผ้าไมโครไฟเบอร์ ไปชุบน้ำหมาดๆ แล้วเปิดเครื่อง ถือเป็นการถูพื้นในห้องไปในตัวได้อีกด้วย

แปรงกวาดข้าง (Side Brush) จะมีลักษณะเป็น แฉกๆ บางรุ่นก็มี 3 แฉก 5 แฉก หรือแม้แต่ 10 แฉก ก็ยังมี จะเป็นแปรงเล็กๆ ที่จะคอยช่วยปัดกวาดฝุ่นจาก ข้างๆ ตามขอบ ซอก มุมต่างๆ ของห้อง ของเฟอร์นิเจอร์ ให้เข้ามาอยู่ในรัศมีทำการของแปรงกวาดหลัก (Main Brush) เพื่อดูดฝุ่นเข้าไปยัง กล่องใส่ขยะฝุ่นละออง อีกที

โดยปกติแล้ว หุ่นยนต์ดูดฝุ่นจะให้ แปรงกวาดข้าง มาด้วย 2 ฝั่ง (ฝั่งซ้าย และ ขวา) แต่ก็มีบางรุ่นที่ให้มาแค่ฝั่งเดียว หรือไม่ได้ให้มาเลย ก็มีให้เห็นเช่นกัน

อุปกรณ์ควบคุมสั่งงานระยะไกล หรือ “รีโมทคอนโทรล (Remote Control)” ใช้สั่งงาน ควบคุมหุ่นยนต์ดูดฝุ่นจากระยะไกล เช่นเรานั่งอยู่บนโซฟา ก็สามารถสั่งงานให้ไปดูดตามจุดที่ต้องการได้ หรือแม้กระทั่งสั่งกลับเข้าแท่นชาร์จ ควบคุมทิศทางของตัวเครื่อง เปลี่ยนโหมดการดูดฝุ่น ก็สามารถทำได้ง่ายๆ เช่นกัน

ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยี การใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน (โทรศัพท์ที่ สามารถติดตั้ง หรือ ลงแอพพลิเคชั่นได้) นั้นเข้ามามีบทบาท เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ทางผู้ผลิตหุ่นยนต์ดูดฝุ่น บางบริษัท และ บางรุ่น เขาจึงยกเลิกการทำ รีโมทคอนโทรล แล้วเปลี่ยนไปให้ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น สามารถเชื่อมต่อกับ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย อย่าง ไวไฟ (Wi-Fi) และ สั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่นได้ โดยตรง ผ่านทั้งอุปกรณ์พกพา ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android และ iOS

ข้อดีของการใช้แอพพลิเคชั่น คือ มันจะเก็บประวัติการทำความสะอาด และ ที่สำคัญสั่งงาน ให้เครื่องทำงาน ได้ จากนอกบ้าน เวลาอยู่ข้างนอก อยู่ต่างจังหวัด หรือ ต่างประเทศ โดยมาก เขาจะพัฒนาให้สนับสนุนการใช้งาน ได้ทั้งไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ (Android) 2 ระบบปฏิบัติการยอดนิยม บนมือถือ

อุปกรณ์ “กำแพงจำลอง” บางยี่ห้ออาจเรียกว่า “กำแพงเสมือน” หลายคนอาจจะสงสัยว่า มันคืออะไร คำตอบก็คือ มันเป็นกำแพง ที่อาจถูกสร้างด้วยแถบแม่เหล็ก หรือ แสงอินฟราเรด เพื่อไม่ให้เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น วิ่งเข้าไปยังพื้นที่ ที่คุณไม่ต้องการให้มันวิ่งเข้าไปดูดทำความสะอาด เป็นต้น อาทิ ห้องนอนที่อาจมีทารก หรือ สัตว์เลี้ยงนอน พักอาศัยอยู่ แต่ห้องนั้นดันไม่มีประตูกั้น ก็ต้องพึ่งเจ้า กำแพงจำลอง นี้เข้ามาช่วยกันไม่ให้มันวิ่งเข้าไปนั่นเอง ซึ่งส่วนมากจะมีอยู่ 2 แบบคือ แถบแม่เหล็ก (Magnetic Strip) และ กล่องแสงอินฟราเรด (Infrared Box)

แท่นชาร์จ เอาไว้ถ่ายทอดพลังงานไฟฟ้า จากไฟบ้าน เข้าชาร์จ โดยตรงสู่ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ซึ่งส่วนมากหุ่นยนต์ดูดฝุ่นราคาสูง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น จะสามารถวิ่งกลับเข้าสู่แท่นชาร์จ หรือ สถานีชาร์จ ได้อย่างอัตโนมัติ เมื่อดูดเสร็จครบทุกพื้นที่ หรือ แบตเตอรี่ใกล้หมด บางตัวก็ฉลาดมาก สามารถวิ่งตรงดิ่งกลับแท่นชาร์จได้เลย ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของห้องก็ตาม แต่บางตัวก็อาศัยวิ่งสุ่ม (วิ่งมั่ว) ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอแท่นชาร์จ แล้วถึงจะหักเลี้ยวเข้าไปจอดชาร์จ

เครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่นบางรุ่น จะมีพอร์ต USB เอามาให้ ไม่ใช่เอามาให้ชาร์จแบตเตอรี่ นะ ประโยชน์มันมากกว่านั้นคือ เอาไว้ใช้ อัพเดทซอฟต์แวร์ ที่ติดอยู่ในเครื่อง ในกรณีที่เขาอาจจะมีพัฒนาออกเวอร์ชั่นใหม่มา ให้เดินได้ฉลาดมากขึ้น ติดขัดน้อยลง และ กลับแท่นชาร์จได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น อะไรแบบนี้เป็นต้น แทนที่จะเสียเงินซื้อใหม่ทั้งเครื่อง ก็สามารถใช้พอร์ต USB นี้เชื่อมกับสาย USB ต่อตรงกับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีของคุณ เพื่ออัพเดทได้เลยทันที

การ วิ่งกลับแท่นชาร์จเองโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่ แบตเตอรี่ใกล้หมด หรือ เสร็จสิ้นภารกิจทำความสะอาด อันนี้จัดเป็น ความสามารถพื้นฐานสุดๆ ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่ต้องมี ในอดีตอาจเป็นเพียงแค่ออปชั่นเสริม แต่สำหรับในปัจจุบัน กลายเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่จะขาดไม่ได้จริงๆ ดังนั้น ทุกตัวมีหมด

หมายเหตุ : ที่ผมไม่ตัดออปชั่นนี้ออกจากหน้าสรุปนี้ เพราะผมกลัวคนอีกจำนวนมาก ที่ไม่ทราบว่ามีออปชั่นนี้ อยู่ด้วย

การ ตั้งเวลาทำความสะอาดล่วงหน้าแบบครั้งเดียว โดยเมื่อหุ่นยนต์ดูดฝุ่นออกไปทำความสะอาดในเวลาที่กำหนด และ เสร็จสิ้นภารกิจการดูดฝุ่น จนวิ่งกลับมาแท่นชาร์จ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะไม่ออกมาทำความสะอาดในวันถัดไปอีกแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเวลาปัจจุบันคือ “21.35 น.(สามทุ่มสิบห้านาที)” และเราตั้งเวลาทำความสะอาดล่วงหน้าแบบครั้งเดียว จากเวลาปัจจุบันไป 24 ชั่วโมง นั่นหมายความว่า ในวันพรุ่งนี้เวลา 21.35 น. หุ่นยนต์ดูดฝุ่น จะออกมาทำความสะอาดโดยอัตโนมัติทันทีและเมื่อกลับเข้าแท่นชาร์จ ถือว่าการตั้งเวลาสิ้นสุด จะไม่มีการออกมาทำความสะอาดอีกแล้ว

ระบบการ “ตั้งเวลาทำความสะอาดรายวัน” เช่น มันจะออกมาทำงานอัตโนมัติ ทุกวันตอน 6 โมงเย็น (18:00 น.) ความสามารถนี้ จัด เป็นอีกออปชั่น ที่แต่ก่อนถือเป็นทางเลือใหม่สำหรับหุ่นยนต์ดูดฝุ่น แต่ในปัจจุบันนี้ เป็นความสามารถพื้นฐาน ที่หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทุกยี่ห้อ จะต้องมีแล้ว

ฟังก์ชั่น การตั้งเวลาทำความสะอาดได้วันละ 2 เวลา (Twice Daily Cleaning Schedule) ถือเป็นออปชั่นใหม่ ที่เพิ่งจะมีในหุ่นยนต์ดูดฝุ่น รุ่นใหม่ๆ ที่ให้คุณสามารถเลือกทำความสะอาดได้วันละ 2 ครั้ง

เพื่อให้บ้านคุณสะอาดอยู่ตลอดเวลา และ เป็นการต้อนรับการกลับบ้านของคุณ ในตอนเย็น นั่นเอง

รูปแบบการแสดงผล (Display Type) เป็นช่องทางที่เอาไว้ให้ตัวเครื่องหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ใช้สื่อสารกับผู้ใช้งาน ในการแสดงค่า บอกสถานะปัจจุบัน ต่างๆ ของตัวเครื่อง ซึ่งก็มีหลายแบบ (ชมรูปตัวอย่างจากด้านล่างได้เลย) ไม่ว่าจะเป็น

• ไฟแสดงสถานะ (Light Indicator) : การแสดงผลแบบนี้จะมีแต่ไฟบนตัวเครื่อง โดยอาจจะมีไฟหนึ่งดวงหรือมากกว่านั้น แสดงในลักษณะ สว่างค้าง หรือ การกระพริบ หรือ อาจจะมีการเปลี่ยนสีของตัวไฟได้อีกด้วย

• หน้าจอดิจิตอล (Digital Display Screen) : การแสดงผลแบบนี้จะสามารถมีตัวอักษร (ตัวเลข – 123456 .. หรือ ตัวหนังสือ – abcdefg …) แสดงบนหน้าจอได้ โดยอาจจะแสดงผลร่วมกับไฟแสดงสถานะ หรือ ไฟสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อาจจะเป็นรูปไอคอน เพื่อสื่อความเข้าใจกับผู้ใช้งานให้ง่ายขึ้น

• หน้าจอ LED (LED Screen) : เป็นการแสดงผลแบบที่หรูหราไฮโซมากที่สุด โดยเป็นการแสดงผลผ่านหน้าจอ LED ขนาดเล็ก (อาจจะไม่ได้มีความคมชัดอะไรที่มากมาย เท่าหน้าจอของโทรศัพท์มือถือ) ถูกติดตั้งแบบฝัง อยู่ด้านบนของตัวเครื่อง โดยหน้าจออาจจะเป็นแบบสี หรือ แบบขาวดำ

“กระแสความนิยมของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่ใช้กันตามบ้าน คอนโดมิเนียม ก็ยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ และที่สำคัญ ก็มีหลายคนที่ใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นมาหลายปี (ประมาณ 3-4 ปี) ตั้งแต่ยุคที่เข้ามาเริ่มบุกเบิกทำตลาดในเมืองไทย หุ่นยนต์ดูดฝุ่นตัวเก่งที่ใช้อยู่ก็เริ่มเสื่อมสภาพหาอะไหล่ไม่ได้ เริ่มเอ๋อๆ แบตเตอรี่หมดเร็วขึ้น ก็อยากจะปลดระวางตัวเก่าเพื่อหาตัวใหม่ ก็มีมาปรึกษาผมอยู่เหมือนกัน ผมก็แนะนำไปตามงบประมาณที่เขามี

ขณะที่เทคโนโลยีของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ถ้าพูดถึง ระบบการนำทางก็จะเห็นหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่นำทางด้วย เลเซอร์วัดระยะทาง ออกมาสู่ท้องตลาดในหลายๆ แบรนด์มากขึ้น (แต่ในสมัยก่อนดูเป็นของหรูมากๆ) เดี๋ยวนี้ก็เกือบจะเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วเช่นกัน และเดี๋ยวนี้เกินร้อยละ 90 ของ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ก็จะมีออปชั่นติดตั้งถังน้ำใต้เครื่อง เพื่อให้ถูพื้นแบบเปียก (Wet Mopping) กันได้แล้ว

ในส่วนของ ออปชั่นการสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ สมัยก่อนราคาเกิน 2 หมื่นบาท ถึงจะมีออปชั่นนี้ แต่สมัยนี้ หมื่นต้นๆ ก็หาซื้อได้แล้ว (ส่วนคุณภาพก็อีกเรื่องนะครับ)

ท้ายนี้มองว่า เทคโนโลยีของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นก็ดูจะเริ่มๆ ตันกันแล้ว ผู้ผลิตก็ยังคงเน้นความฉลาด ทำความสะอาดครบทุกพื้นที่ กลับแท่นชาร์จแม่นยำ กันต่อไป (เหมือนปีก่อนๆ) ในขณะที่จุดเด่นอื่นๆ ที่จะเข้ามาเสริมอย่างเช่น หลอดไฟ UV ฆ่าเชื้อโรค ก็ไม่ค่อยเห็นออกมาแล้ว ถ้าจะให้แบบโดดเด่นจริงๆ เห็นจะเป็น หุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ “เดินขึ้นบันไดชั้น 2 ได้” ซึ่งไม่รู้จะมีมาเมื่อไหร่ ผมคิดว่าหลายเจ้าคงคิดแบบผม แต่การลงทุนอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย เลยไม่มีออกมาให้เห็นสักที ท้ายสุดนี้ขอลาไปก่อน พบกันใหม่ปีหน้า และฝากติดตามรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นผมได้เรื่อยๆ นะครับ มีออกมาตลอดทั้งปีแน่นอน”

สุดท้ายนี้ก็หวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์มากๆ สำหรับผู้ที่กำลังจะหาซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่นดีๆ สักตัวมาใช้ที่บ้านนะ เพราะถ้าจะซื้อทั้งที ก็ควรจะซื้อให้ดี ส่วนตัวผมจะขอเป็นกลาง ไม่เชียร์ตัวไหนเป็นพิเศษ ขอให้ทุกท่านอ่านข้อมูลที่เปรียบเทียบเอาไว้ด้านบน และตัดสินใจเอาเอง ขอบคุณครับ

Leave A Comment

Copyright © 2023 electricalleaf.com. All rights reserved.